วัดไตรธรรมาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไตรธรรมาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไตรธรรมาราม, วัดสามหม้าย, วัดตรีศรัทธาวาส
ที่ตั้งตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรเมธาจารย์ (พงศ์สรร อสิญาโณ ป.ธ.9)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดไตรธรรมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ดิน 6 ไร่ 2 งาน

วัดไตรธรรมาราม ประมาณว่าสร้างในราว พ.ศ. 2376 โดยแม่หม้าย 3 คน คือ แม่ทิม แม่ฉิม และแม่ทรัพย์ [1] ได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น และได้ชื่อว่า วัดสามหม้าย ต่อมาเมื่อสร้างอุโบสถเครื่องไม้ จึงขอวิสุงคามครั้งแรถ ในปี พ.ศ. 2445 ต่อมาอุโบสถทรุดโทรม จึงได้สร้างอุโบสถใหม่ (อุโบสถปัจจุบัน) ขนาดใหญ่กว่าเดิม และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2505[2] ในปีที่สร้างอุโบสถเครื่องไม้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดตรีศรัทธาวาส เป็นนสมัยพระปลัดสุทธิ์เป็นเจ้าอาวาส แต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้เรียก "วัดสามหม้าย" ตามเดิม ถึงยุคส่งเสริมวัฒนธรรม ตามนโยบายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ. 2486 สมัยพระเทพรัตนกวี (ก. ธมฺมวร) แต่ครั้งยังเป็นพระครูวัตตจารีศีลสุนทร จึงเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดไตรธรรมาราม" ใช้จนปัจจุบัน[3] วัดไตรธรรมาราม ได้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521[4]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2502 เป็นอาคารคอนกรึตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ จำนวน 12 หลัง เป็นอาคารไม้ 3 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 7 หลัง และตึก 2 หลัง ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงปั้นหยา ศาลาอเนอกประสงค์ กว้าง 15 เมตร ยาว 32 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2498 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ หอประชุมสงฆ์ และหอระฆัง ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 33 นิ้ว 1 องค์ พระพุทธรูปปางตรัสรู้ ขนาดหน้าตักกว้าง 3 วา 2 ศอก สูง 4 วา ศอก 8 นิ้ว ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ นามว่า พระโพธิพุทธคยานุสรณ์[5]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระเทพรัตนกวี (เกตุ ธมฺมวโร)
  • พระเทพสิทธินายก (ข้อง เกสโร ป.ธ.6)
  • พระพรหมวชิรเมธาจารย์ (พงศ์สรร อสิญาโณ ป.ธ.9)

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชรัตนกวี (เกตุ ธมฺมวโร), อัตตประวรรตน์สังเขป ที่ระลึกในการทำบุญอายุ ๗๒ (เรื่องอันดับที่ ๑๔๙), ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๔. หน้า ๑๑๘.
  2. "วัดไตรธรรมาราม พระอารามหลวง". พระสังฆาธิการ.
  3. "วัดไตรธรรมาราม". ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน.
  4. "แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  5. "วัดไตรธรรมาราม".